แม่ฮ่องสอน ผ่อนคลาย

เส้นทางสายวัฒนธรรม วิถีชุมชน ยั่งยืน

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เดอะกุ่ย ได้มีโอกาสไปเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน แบบผ่อนคลายไปกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคเหนือ และททท. จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้การเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งตั้งแต่วันนี้ผู้ที่อยากไปสัมผัสบรรยากาศท่องเที่ยว วิถีชุมชนท้องถิ่น ขุนเขา ธรรมชาติ บรรยากาศเมืองสามหมอก ยิ่งในขณะนี้มีสายการบินที่ให้บริการจาก ดอนเมือง – แม่ฮ่องสอน ได้อย่างสะดวกสบายขึ้น ถือเป็นการรองรับการท่องเที่ยวได้มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ททท. ภาคเหนือได้พาไปสำรวจวิถีชุมชนในหลายพื้นที่

จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสภาพภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีวัฒนธรรมและประชากรหลายชาติพันธุ์  เช่น ไทใหญ่ จีนฮ่อ พม่า ชาวเขา ฯลฯ พื้นที่จังหวัดกว้างขวางแต่ประชากรน้อย แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเมืองหลวงประเทศไทยที่มีสภาพแออัด มีภูเขาสูงสลับซับซ้อนเหมาะแก่การพิชิตสำหรับผู้ที่ชอบความท้าทายไม่ว่าจะเป็นการปั่นจักรยาน ขับขี่บิ๊กไบค์ หรือรถยนต์ จำนวนโค้งทั้งสิ้นรวม 1,864 โค้ง สภาพภูมิอากาศมีหมอกปกคลุมตลอดเวลา จึงได้เรียกว่าเป็นเมืองสามหมอก

หลังจากเดินทางถึงสนามบินแม่ฮ่องสอน ที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ก็ได้เรียนรู้วิถีชุมชน ได้สัมผัสวัฒนธรรม จาก พิพิธภัณฑ์มีชีวิต  ก่อนเดินทางต่อไปยังเมืองปอน อำเภอขุนยวม ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทใหญ่หรือชาวไต สิ่งที่ประทับใจคือการได้มีโอกาสได้พักโฮมสเตย์กับชาวบ้านในพื้นที่ ได้เรียนรู้วัฒธนธรรมและทานอาหารของชาวไตภายใต้บรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยขุนเขา ความคลาสสิคของบ้านไม้ที่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไต ใบตองมุงหลังคา ปลูกผักกินเองในพื้นที่รอบบ้าน และยัง มี Wi-Fi  รองรับสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมภูมิปัญญาชาวบ้านและเรียนรู้วิถีชุมชน การตอกลาย การจักสาน การทำเชือกหมวก ป้าๆ แทบทุกบ้านจะมีความสามารถในการทำเสื้อไตใส่เอง แต่ละบ้านก็จะแบ่งงานกันทำในละกรรมวิธีการผลิตเพื่อผลิตเสื้อไตไว้ขาย ป้าคนนึงฉลุลายเสื้อ ป้าอีกคนเย็บติดกระดุม ถ้าป้าคนไหนไม่อยู่ วันนั้นงานก็ไม่เสร็จ ส่วนใหญ่จะมีคนจองคิวกันแทบจะทำไม่ทัน

เมืองปอนเป็นเมืองที่เงียบ หลังสองทุ่มก็ปิดบ้านนอนกันหมดไม่มีแหล่งบันเทิงใดๆ ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสนวดตัวด้วยฝีมือคุณหมอแผนโบราณจากสาธารณะสุขประจำพื้นที่และได้นวดหน้าด้วยผงไม้ทานาคาจากพม่า พร้อมตื่นเช้ามาก็ได้ทานข้าวผัดพร้อมด้วยแคปหมูฝีมือคุณป้าเจ้าของโฮมสเตย์ ก่อนจะเดินทางไปที่วัดต่อแพกันต่อ

วัดต่อแพเป็นสถานที่พักแรมของทหารญี่ปุ่นที่จะเดินทางต่อไปยังพม่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานที่พิมพ์ธนบัตรตั้งอยู่บริเวณวิหารเล็กหน้าเจดีย์ สถานพยาบาลตั้งอยู่ใต้ถุนศาลาวัด อนุสรณ์สถานทหารญี่ปุ่นตั้งอยู่ด้านหน้าของวัด ศพจากสงครามก็ถูกฝังอยู่ในบริเวณวัดแห่งนี้ นับว่าเป็น One Stop Service เลยทีเดียว

ทางด้านศาลาการเปรียญของวัดใช้ศิลปะพม่าแลดูสวยงาม มีพระธาตุเจดีย์ทรงไทใหญ่ ผ้าม่านโบราณ 150 ปี เล่าพุทธประวัติพระเวสสันดรเสด็จประพาสอุทยาน เท่าที่ผมสัมผัสได้ชัดเจน คือชาวไทใหญ่มีความศรัทธาในศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก การที่ลูกได้บวชถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุดในชีวิตพ่อแม่ ความเชื่อดังกล่าวนำไปสู่การจัดงานบุญ ปอยส่างลอง ถือเป็นประเพณีงานบวชที่เป็นเอกลักษณ์ วัดและพระสงฆ์จึงเป็นที่น่าเลื่อมใสและเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร แด่ชาวไตในพื้นที่ อีกหนึ่งจุดไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาด คือการเก็บภาพทุ่งนาหลังวัดโดยมีฉากหลังเป็นภูเขาสลับกับท้องนา นับเป็นวิวสวยงาม ธรรมชาติมาก

เดินทางออกจากวัดต่อแพก็ไปชมอนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น ยังอยู่ในอำเภอขุนยวม ภายในอนุสรณ์สถานฯ มีอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมภาพถ่ายบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์สงครามมหาเอเชียบูรพา หลักฐานของตำนานถนนแห่งมิตรภาพและความทรงจำ กล่าวคือเส้นทางสายประวัติศาสตร์ถนนสายยุทธศาสตร์ ตองอู-เชียงใหม่ ภาพอธิบายเรื่องราวเส้นทางวัวต่าง ม้าต่าง ซึ่งเป็นเส้นทางธรรมชาติลัดเลาะไปตามสันเขาและลำห้วยเพื่อการค้าขาย อีกทั้งยังมีวีดีโอฉายเรื่องราวความเป็นอยู่ระหว่างชาวขุนยวมและทหารญี่ปุ่นในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประวัติศาสตร์ทหารญี่ปุ่นจำนวนกว่า 110,000 นาย ตั้งรับทหารอังกฤษและจีนจากพม่าพร้อมกับเสรีไทย ตำรวจไทย และกองทัพไทยที่ต้องการขับไล่กองทัพญี่ปุ่น จนไทยได้ขับไล่ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย กองทหารอังกฤษจึงเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย สัญญาสันติภาพจึงถูกทำขึ้นโดยไทยจะต้องส่งมอบข้าวจำนวน 1.5 ล้านตัน แก่อังกฤษไปฟรีๆ ทั้งนี้ ยังมีธนบัตรในแต่ละช่วงเวลาที่จับจ่ายใช้สอยให้เห็นในพิพิธภัณฑ์ เครื่องแบบการแต่งกายและอุปกรณ์ที่ใช้ในการรบ หมวก หีบบรรจุลังกระสุนของกองทัพญี่ปุ่น ปืนประเภทต่างๆ ภาพรถบรรทุกญี่ปุ่น ฯลฯ

ชาวขุนยวมมีรายได้จากทหารญี่ปุ่นด้วยการรับจ้าง เสื้อผ้าก็ได้ทหารญี่ปุ่นนำมาแบ่งให้ใส่ มีอะไรก็แบ่งปันกันไม่ได้รบกวนกัน ชาวบ้านมีงานอะไรเป็นประเพณีที่จัดอยู่เป็นประจำ ทหารญี่ปุ่นก็มาช่วยกันทำ อีกทั้งยังมีรายได้จากการขายพืชผักและอาหารให้กับทหารญี่ปุ่น มิตรภาพอันดีงามที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ถือว่าแปลกแต่จริง แต่สงครามก็คือสงคราม ความสวยงามได้เปลี่ยนเป็นความโหดร้ายจากโศกนาฎกรรมแห่งความบอบช้ำบนถนนแห่งมิตรภาพ สมรภูมิรบมีแต่ความตาย ความหิวโหย ความสูญเสีย และกลายเป็นตำนาน สุสานแห่งความทรงจำฝังศพทหารญี่ปุ่นมากมาย รวมไปถึงวัดต่อแพที่ผมได้ไปชมมาสักครู่ด้วย ร่างไร้วิญญาณที่ไม่สามารถกลับบ้านเกิดเมืองนอนถูกฝังในผืนแผ่นดินไทย หลังจากที่จักรพรรดิญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้สงคราม ทหารที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เปลี่ยนสถานะเป็นเฉลยศึก มีบางส่วนไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ก็เอามีดสั้นติดตัวคว้านท้องตัวเองตาย

เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์อันงดงามท่ามกลางความทรงจำที่เต็มไปด้วยความรัก ความเจ็บปวด ความสูญเสีย มิตรภาพต่างเผ่าพันธุ์ระหว่างทหารญี่ปุ่นและชาวไต การแบ่งปันเกื้อหนุนกันในยามสงครามและยามสงบสุข เรื่องราวระหว่างญี่ปุ่นกับชาวไต ณ ที่แห่งนี้แตกต่างจากความโหดร้ายที่เราได้ยินกันมาในพื้นที่ต่างๆ เรื่องราวของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการฆ่า ขมขื่น ปล้นสะดม ทำลาย ฯลฯ ไม่ได้ถูกกล่าวถึง มีแต่มิตรภาพอันดีและความรักต่างเผ่าพันธุ์ระหว่างชาวขุนยวมและทหารญี่ปุ่น แม่อุ๊ยแก้ว จันทสีมาและสิบเอกฟูคูกะ ซึ่งได้แต่งงานกันอยู่ด้วยกันจนสงครามสงบ และมีของที่ระลึกเป็นถ้วยเงินพระราชทานจากจักรพรรดิญี่ปุ่นประดับไว้ให้ชาวท้องถิ่น เรียกได้ว่าเป็นความรักในเงาสงคราม

มองย้อนกลับมาดูชีวิตเราต้องนี้มันช่างสบายเสียเหลือเกิน บรรพบุรุษไร้อิสรภาพในการใช้ชีวิต เกิดมาเป็นลูกทาสต้องทำตามคำสั่งผู้ใต้บังคับบัญชา เดินทางมาทำภารกิจรับใช้ชาติจากแดนไกล พลัดพรากจากคนที่รักที่ห่วงใย สุดท้ายต้องตายด้วยศักดิ์ศรีที่กินไม่ได้ บางคนก็ตายเป็นเพียงแค่อาหารปลา น้อยคนนักที่จะได้เป็นตำนาน

ออกจากความดราม่าบนโลกแห่งความเป็นจริง ก็เดินทางต่อไปยังชุมชมบ้านผาบ่อง ตั้งอยู่ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งเต็มไปด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้ข้ามสะพานข้าว 9 เพื่อสุข ท่ามกลางทุ่งนาเขียวขจี บนป้ายบอร์ดมีผาบ่องโมเดล ให้เห็นถึงการวิเคราะห์ชุมชน แนวทางการดำเนินงานและผลที่ได้รับ แบ่งฐานเรียนรู้ให้ศึกษา อาทิเช่น การทำก๊อกซอมต่อ ชุมชนบ้านผาบ่องมีมรดกภูมิปัญญาที่โดดเด่นของชาวไตและกระเหรี่ยงขาว อาหารที่ขึ้นชื่อคือ แกงฮังเล เนื้อลุง มะม่วงสะนาบ ผักกูดจอ หนังโก้ ส่วนสถาปัตยกรรมเป็นอาคารบ้านเรือนปลูกสร้างด้วยไม้ซึ่งตกแต่งด้วยลวดลายฉลุบนแผ่นโลหะ วิหารของชาวไต ตกแต่งแบบสองคอสามชายโดยมียอดปราสาทเป็นชั้นๆ ชุมชนบ้านผาบ่องถือได้ว่าเป็น 1 ใน 9 ของชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปี 2558 และสะพานข้าว 9 เพื่อสุข นับได้ว่าเป็นเจตนารมณ์ของกำนันเพื่อนำชุมชนเดินตามรอยพ่อในแนวทางแห่งศาสตร์พระราชา สะพานไม้ไผ่สานมีความยาว 159 เมตร ทอดยาวท่ามกลางทุ่งนาเพื่อความสุขที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

หลังจากได้ไปศึกษาวิถีชีวิตและเรียนรู้การท่องเที่ยงเชิญวัฒนธรรมของชุมชมผาบ่องแล้วก็ไปดูพระอาทิตย์ตกดินที่ดอยกองมู ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยมีอารมย์ศิลปินในการชมพระอาทิตย์แสงแรกหรือแสงสุดท้าย เวลาไปวัดก็หาที่เงียบๆ นั่งสมาธิ วัดพระธาตุดอยกองมู นับว่าเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลประจำปีอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นงานสงกรานต์หรืองานปีใหม่ ภายในวัดมีศิลป์เจดีย์มอญสวยงาม สร้างโดยพระยาสิงหนาทราชา ซึ่งเป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก วัดนี้อยู่บนยอดดอยสามารถมองเห็นเมืองแม่ฮ่องสอนได้อย่างชัดเจน

กลับจากวัดก็เข้าที่พักอาบน้ำปะแป้ง แล้วไปทานอาหารเย็นและเดินถนนคนเดิน ซึ่งก็เงียบๆ คนไม่พลุกพล่านเมื่อเทียบกับถนนคนเดินจังหวัดอื่นๆ ทีมงานก็เดินชิมอาหารไปเรื่อย แต่ที่อร่อยถูกใจที่ได้สุดก็ไม่พ้นหม่าล่า อิ่มหน่ำสำราญแล้วจึงกลับที่พักเพื่อเตรียมชมสถานที่สำคัญในวันต่อไป นั่นก็คือสะพานซูตองเป้

เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นอีกครั้งเมื่อได้เดินทางในตอนเช้าตรู่กับคณะโดยไม่สามารถขับถ่ายได้เรียบร้อยก่อนเดินทาง หลังจากรถจอดที่ตีนสะพานซูตองเป้ ผมนี่รีบวิ่งหาห้องน้ำก่อนเลย “ไปกันก่อนเลยครับ เดี๋ยวกระผมจะตามไป” อย่างไรก็ดี เมื่อเสร็จธุระแล้ว ทีมงานก็ยังไม่ได้ไปไหน เพราะกำลังชื่นชมกับความสวยงามของสะพานไม้ไผ่ยาวที่สุดในประเทศไทยที่เชื่อมระหว่างสวนธรรมภูสมะกับบ้านกุงไม้สัก สะพานที่สร้างด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวบ้านภูสมะและพระภิกษุสามเณรโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านได้ข้ามไปมา รวมทั้งพระจะสามารถบิณฑบาตได้อย่างสะดวกในตอนเช้าตรู่ สวนธรรมภูสมะมีธรรมะสอนใจอยู่ทั่วพื้นที่ ขึ้นอยู่กับการตีความของปัญญาชนทั้งหลายที่เข้ามาเยี่ยมเยียนสถานปฏิบัติธรรมที่เงียบสงบแห่งนี้ แม้แต่ทางเข้าห้องน้ำก็ยังมีธรรมะสะกิดใจให้ได้คิดก่อนปลดทุกข์ และในอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประดับไปด้วยศิลปะพม่าสีทองอร่ามงดงามอย่างที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน

หลังจากที่พอกหน้าด้วยทานาคาในวันแรกของทริป วันนี้ก็จะได้พอกโคลนที่ภูโคลน คันทรี คลับ อยู่ตรงบ่อน้ำพุร้อนที่โป่งเดือดแม่สะงา ผมได้เลือกโปรแกรมพอกทั้งตัว หลังจากล้างโคลนออกก็ไปแช่สระน้ำพุร้อน ซึ่งปกติต้องแช่ธรรมดา แต่พอเจอสระแล้วก็ทนไม่ไหว ว่ายซะเลย ปรากฏว่าหน้ามืด ไม่แนะนำให้ลอกเลียนแบบเพราะเป็นความสามารถเฉพาะตน และหากท่านใดมีโรคประจำตัวหรือโรคที่ต้องพึงระวังก่อนลงแช่น้ำพุร้อน ให้อ่านกฎหรือสอบถามเจ้าหน้าที่กันก่อน เพื่อความปลอดภัย

ที่สุดท้ายของทริป คือ ไปเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้โครงการพระราชดำริและพัฒนาลุ่มน้ำปาย หรือ ศูนย์โป่งแดง ซึ่งประกอบไปด้วยศูนย์เรียนรู้ 9 ฐาน ด้านพืช ข้าว ดินและปุ๋ย ปศุสัตว์ ประมง ไฟป่า ฟาร์ม ป่าไม้ น้ำ ฯลฯ เนื่องจากเป็นสถานที่กว้างขวางจึงได้ไปเยี่ยมดูที่ละเล็กที่ละน้อย แต่แวะที่ฟาร์มสตรอเบอร์รี่ปลอดสารพิษกันนานหน่อย รสชาติจะหวานๆ เป็นพิเศษ ซัดไปหลายเม็ดเลยทีเดียว ความรู้ใหม่สำหรับผมคือผงโกโก้ทำมาจากลูกโกโก้ และเพิ่งเคยเห็นลูกโกโก้ ที่นำไปทำช็อคโกแลต  เป็นไมโลเป็นๆ ครั้งแรก ตื่นตาตื่นใจมากๆ ก่อนจะปิดท้ายภารกิจเรียนรู้เรื่องไฟป่า ทำให้รู้ว่าไฟป่า ที่เป็นไฟร้อนนั้นเกิดจากฝีมือคนล้วนๆ มนุษย์จุดไฟป่าเพื่อทำลายธรรมชาติโดยเอาประโยชน์เข้าตัวทั้งสิ้นส่วนไฟเย็นประโยชน์ไฟป่า ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ การระบัดเพื่อการขจัดเชื้อโรคบนพื้นผิวดินและทำร้ายวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อต้นไม้ในภาพรวม อีกทั้งยังได้ดูการสาธิตวิธีการดับไฟป่า จากหน่วย “เหยี่ยวไฟ” เจ้าหน้าที่ศูนย์ดับไฟป่า โครงการในพระราชดำริ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการปฏิบัติหน้าที่เลย ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ล้อมรอบด้วยภูเขา และระยะทาง สิ่งที่ควบคุมเมื่อเกิดไฟป่า ทุกคนต้องทำกันเป็นทีม โดยเฉพาะในพื้นกว้างนั้นยิ่งยากเข้าไปอีกหลายเท่าตัว

นับว่าเป็นทริปที่ได้ความสนุกและได้รับความรู้จากการท่องเที่ยงชุมชนเชิงวัฒนธรรมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งยังได้ซึมซับความต่างที่เหมือนกันของชาติพันธุ์ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจากชุมชนต่างเชื้อชาติบนพื้นที่ภาคเหนือน่าเลื่อมใสยิ่งนัก ความเงียบสงบ ความปลอดภัย ดินแดนแห่งธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยป่าไม้ ให้หายใจได้อย่างสดชื่น เรื่องควันไฟป่า ที่ได้สัมผัสในการเดินทางทริปนี้ ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคในการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน ครั้งนี้แต่อย่างใด อิ่มเอมมาก สุดท้ายนี้ อย่าลืมไปเที่ยวกันครับ เก็บสถานที่แห่งนี้ไว้ในอ้อมใจ อาจจะไม่ศิวิไลซ์ แต่ได้ใจแน่นอน

#เหนือฝันล้านแรงบันดาลใจ

#แม่ฮ่องสอนผ่อนคลาย

#แอ่วเหนือครั้งใหม่ไม่เหมือนเดิม

#gonorththailand

เดอะกุ่ย



Loading Facebook Comments ...